“ม.พะเยา” ร่วมมือกับชุมชนเดินหน้าปั้นบริษัท ออร์แกนิคพะเยา สู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเพิ่มช่องทางการขาย และแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นสร้างกลไกผู้นำท้องถิ่นสร้างเกษตรอินทรีย์พะเยาให้เข้มแข็ง

303 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ม.พะเยา” ร่วมมือกับชุมชนเดินหน้าปั้นบริษัท ออร์แกนิคพะเยา สู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเพิ่มช่องทางการขาย และแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นสร้างกลไกผู้นำท้องถิ่นสร้างเกษตรอินทรีย์พะเยาให้เข้มแข็ง

ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา  ผู้อำนวยการโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยาสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย พะเยาร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดพะเยามาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันและได้ร่วมมือกับชุมชนจัดตั้งบริษัทออร์แกนิคพะเยาขึ้นมา

โดยในปีนี้เป้าหมายการทำงานของคณะวิจัยอย่างหนึ่งคือการเดินหน้าพัฒนา บริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด  (OPSE) เพื่อพัฒนาระบบการจัดการด้านการตลาด ผลผลิตเกษตรอินทรีย์และสินค้าแปรรูป ให้มีการขับเคลื่อนการตลาดที่เป็นธรรมผ่านบริษัท OPSE พร้อมกับยกระดับห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา

ทั้งนี้บริษัท OPSE ได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เพื่อรวบรวมสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดพะเยาไปส่งขายให้กับผู้รับซื้อในจังหวัดอื่นๆ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มขายสินค้าจากจังหวัดพะเยาให้กับลูกค้าที่มีการสั่งซื้อสินค้าจากจังหวัดพะเยาเป็นจำนวนมาก เช่น เลมอนฟาร์ม  ที่รับซื้อลิ้นจี่จากจังหวัดพะเยา และบริษัท สุขทุกคำ ที่รับซื้อสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าออร์แกนิกจาก จ.พะเยา ไปขายต่อให้กับลูกค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ผ่านมาบริษัท OPSE มีรายได้ประมาณ 30,000 – 40,000 บาทต่อเดือน

  

สำหรับแผนการพัฒนาทางการตลาดต่อไป ได้เริ่มมีการทำการตลาดเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยการตลาดแบบออนไลน์ได้เริ่มมีการจัดตั้งเพจ และกลุ่มไลน์เพื่อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผักออร์แกนิคในจังหวัดพะเยา ส่วนการทำการตลาดออฟไลน์มีการเจรจาพูดคุยกับห้างโมเดิร์นเทรดในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อส่งสินค้าไปจำหน่าย ควบคู่กับการนำสินค้าไปออกบูทแสดงสินค้าของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดจนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ผักเคล ถั่วพู วอเตอร์เครส มะเขือเทศราชินี ฟักทองไทย เป็นต้น

นอกจากการเพิ่มช่องทางการตลาดคณะนักวิจัยยังให้ความสำคัญกับการวิจัยทางด้านเกี่ยวกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหาผลผลิตเหลือทิ้ง จำนวน 4 ชุมชมนวัตกรรม ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์การผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในการบริหารจัดการลิ้นจี่ตกเกรด  ชุมชนนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากเห็ด โดยฟาร์มเห็ดธนกฤต์ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  ชุมชนนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผงชงดื่ม โดยกลุ่มผลิตผักอินทรีย์ ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืช ผัก สมุนไพรอบแห้ง โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด อโกรโปรเกรส

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง :: https://www.nxpo.or.th/th/10016/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  คุกกี้